สภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นหนังสือต่อวุฒิสภาคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง รับหนังสือจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย นำโดย นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ และนางสิทธิรัตน์ โหตระไวศยะ นายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มงบประมาณของภาครัฐ และสร้างภาระให้ประเทศชาติในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น


.
ด้าน นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ และนางสิทธิรัตน์ โหตระไวศยะ สมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เช่น การเพิ่มบทนิยามคำว่า “การจ้างงานรายเดือน” (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5) เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของนายจ้าง มากกว่า 30% โดยไม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือ Productivity มารองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่เป็นการทำสัญญาของนายจ้างและลูกจ้างโดยถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้วและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงไม่ควรบังคับการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติอันเขาพึงมีตามกฎหมาย (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 15) ในเรื่องนี้แนวทางปฏิบัติเดิมตามกฎหมายมีบังคับใช้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.เดิม มาตรา 4 และไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. พ.ศ. 2541 การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง โดยปรับลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23) ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้าง ที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาความอยู่รอดขององค์กร การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยเพิ่มวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสองวันต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28) การแก้ไขกรณีนี้ จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนขององค์กรมากกว่า 20% ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เมื่อทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน ให้มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบวัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30) ซึ่งการพักผ่อนประจำปีนี้เป็นสิทธิของนายจ้าง ที่ให้สิทธิพนักงานที่ทำงานครบ 1 ปี แล้วจึงมีสิทธิลาพักร้อนได้ 6 วัน ในลักษณะของงานที่ลูกจ้างทำงานไม่เกิน 120 วัน ยังคงอยู่ในสภาพทดลองงานเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เป็นต้น
.
พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง จะรับเรื่องดังกล่าวไว้ และจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *