GC ริเริ่มโมเดลเชิงรุกร่วมกับพันธมิตรรัฐ เอกชน และประชาสังคม สร้างโมเดลต้นแบบแรกของประเทศ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืนขยะเดลิเวอร์รี่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนครบวงจร ในพื้นที่นำร่องสุขุมวิท

จากวิกฤตโควิด-19 และการ Lockdown ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนที่จำเป็นต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกจากกล่องอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 15% ต่อวัน (จาก 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน)  บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เล็งเห็นถึงความสำคัญ และเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้หารือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) และคู่ค้าของ GC เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำร่องให้เกิด Circular Hotspot บนถนนสุขุมวิท เป็นแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เชิงสาธารณะ และเป็นต้นแบบให้กับอาเซียน ในระยะฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤต   โควิด-19  

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) หรือ GC (จีซี) กล่าวว่า “ในฐานะที่ GC เป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก และเป็นองค์กรเกียรติยศด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ GC เห็นปัญหาของขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้  GC จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบนำร่องของประเทศ สร้างประโยชน์ในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยการนำขยะรีไซเคิลมาสร้างประโยชน์ใหม่ตามหลักการบริหารจัดการของ GC นั่นคือ GC จะร่วมสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้อง โดยการร่วมสร้างจุดบริการรับฝากขยะ (Drop point) กับพันธมิตร ซึ่งการจัดการขยะนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคนด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้องจากนั้นขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกนำมาเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติกและเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ จากนั้น ผ่านโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และ อัพไซเคิล วนกลับสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับสร้างสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับอาชีพคนรับจ้างเก็บขยะ และยังเป็นการสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูงให้เกิดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“พลาสติกถือเป็นนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19  นี้ พลาสติกมีบทบาทในหลายแง่มุม ด้วยความสะดวกสบาย และยังเป็นวัสดุที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยเมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องมีการบริหารจัดการหลังการใช้ให้ถูกวิธี เพื่อให้ไม่เป็นภาระของโลก ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายจากทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราเชื่อว่าโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นี้ จะประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบ GC พร้อมสนับสนุน โดยเป็น Total Solution Provider เดินเคียงข้างภาครัฐ และภาคีพันธมิตรเพื่อขยายผลต่อยอดในเชิงพื้นที่ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตต่อไป” ดร. คงกระพัน กล่าว 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *