ชมแสงแรกแห่งตะวัน อลังการยอยักษ์ สัมผ้สความมหัศจรรย์ ณ “คลองปากประ” อัลซีนเมืองลุง

           “โอ่…โอปักษ์ใต้บ้านเรา มีน้ำมีเขาทะเลกว้างไกล จะไปไหน ก็ปักษ์ใตบ้านเรา”  แหม..ฮัมเพลงเกริ่นกันขนาดนี้ ก็คงจะรู้ในทันทีว่า เราจะไปเที่ยวกันที่ไหน ? เฉลยกันไปเล๊ย ก็จะพาท่านผู้อ่านล่องใต้ไปท่องเที่ยวกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง อิอิ… ดังนั้นในทริปนี้เราจึงขออาสาพาท่านเดินทางไปเก็บเกี่ยวความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคใต้บ้านเรา จากอากาศในกรุงเทพฯ ที่ร้อนแทบตับแหก  เรามาหลีกหนี ความร้อนและฝุ่นละอองในเมืองกรุง และไปพักกายและพักใจเติมพลังชีวิตกันที่เมืองลุง หรือ จ.พัทลุงนั่นเองครับ ผมเลือกพักใกล้ๆ กับทะเลน้อย เพื่อความสะดวกต่อการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยว โดยหมายหมั่นปั้นมือไว้ว่า จะต้องชักภาพ แสงแรกอันสวยงามที่ “คลองปากประ” แห่งนี้ให้จงได้นั่นเอง

“กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด” เสบียงนั้นสำคัญจริงๆ นะจ้ะ ท่านผู้อ่านครับ มาแหล่งท่องเที่ยวต้องตระเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ขนมนมเนย ไว้ให้เรียบร้อย อย่าพึ่งไปหวังน้ำบ่อหน้าว่าจะไปซื้อที่นั่นก็ได้ เพราะบางครั้งพ่อค้าแม่ขายก็ยังไม่ตื่นเสียด้วยซ้ำ แหม…ผมมันคนชอบกิน ชมชิม กระเพราะใหญ่ซะยิ่งกว่าลานจอดรถไฟใต้ดินเสียด้วยซ้ำ  สามารถกินได้แบบยัดนุ่นกันเลยทีเดียว  “เอ้าพี่นี่กาแฟเย็น แบบเข้มป้าด จิบแล้วตาสว่างเชื่อหัวไอ้เรืองเต๊อะ” น้องในทีมส่งเสียงร้องบอกผม พร้อมๆ กันกับค่อยๆ บรรจงโยนกาแฟกระป๋องให้กับผม “ขอบน้ำใจเด้อ” ผมอมยิ้ม  เพราะน้องทีมงาน ช่างรู้ใจช่างภาพคนนี้เสียจริงๆ   

สำหรับการมาเก็บภาพ หรือชักภาพแสงแรกที่คลองปากประนั้น  เราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 4 ตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ กล้อง เลนส์ ขา ตั้งกล้อง รีโมทลั่นชัตเตอร์ แบตกล้องสำรองไว้ 3-5 ก้อน ไฟฉาย ฯลฯ เพราะค่อนข้างใช้พลังงานเยอะ ที่สำคัญกล้องดิจิตอลไม่เหมือนกล้องฟิล์มที่เคยถ่ายกัน ถ้าถ่ายจนแบตหมดไม่มีสำรอง ก็จบข่าวกันละจ้า 

ในช่วงเช้ามืดที่คลองปากประของวันนั้น  มีอากาศที่เย็นสบาย  โดยคลองแห่งนี้นั้น ตั้งอยู่ที่ บ้านปากประ ต.พะนางตุง อันมีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า ที่นับว่ามีความงดงามยิ่ง  โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ (รับผิดชอบพื้นที่สงขลา พัทลุง) ได้ทำการผลักดันให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความสำคัญเคียงคู่กับทะเลน้อยอันสวยงามนั่นเอง

เดิมทีนั้น คลองปากประ เป็นคลองที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เคยเป็นประตูสู่เมืองชัยบุรีในสมัยก่อน  ปัจจุบันคลองแห่งนี้ นับเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้าน และชาวประมงพื้นบ้าน  มีสายน้ำที่เชื่อมโยงกับทะเลน้อย สามารถล่องเรือไปมาหาสู่กันได้   แหม..เล่าถึงประวัติความเป็นมาสักเนิ่นนาน จนเกือบลืมไปว่า เช้ามืดในวันนี้ผมมีนัดกับพระอาทิตย์บนสะพานข้ามคลองปากประ เพื่อเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นเหนือลำคลองท่ามกลาง ภาพวิถีชีวิตของชาวประมง การยกยอ ซึ่งเป็น “ยอยักษ์” อันมีขนาดใหญ่  นับเป็นเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นสวยงามมากของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้

แม้ว่ายอยักษ์จะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากก็ตามที  ทว่าด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านอันชาญฉลาด  จึงได้นำรอกมาเป็นเครื่องมือยกยอ ทำให้แม้แต่เด็กๆ ก็ยังสามารถยกยอยักษ์นี้ได้โดยง่าย  ซึ่งชาวบ้านจะหย่อนยอยักษ์ลงในน้ำประมาณ 5 นาที จากนั้นจึงยกขึ้นมา  เท่าที่เห็นในวันนั้นยอส่วนใหญ่ที่ยกขึ้นมา ก็จะมีทั้ง กุ้ง,หอย,ปู และปลา ติดขึ้นมา มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่  จากนั้นชาวบ้านก็จะนำอุปกรณ์คล้ายกระชอนต่อไม้ยาว แล้วนำไปช้อนปลาในยอขึ้นมา และจึงหย่อนยอลงไปในน้ำเพื่อที่จะทำแบบเดิมๆ จนกว่าจะเป็นที่พอใจ   

บริเวณลำคลองปากประ จะเต็มไปด้วยยอยักษ์ตั้งแต่ในลำคลองไล่เรียงไปจนถึงปากทะเลสาบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก แลเห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ลอยขึ้นมาอยู่เหนือน่านน้ำได้อย่างสวยงาม จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ในทุกๆ เช้า จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และช่างภาพทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่  มาเฝ้ารอเก็บภาพพระอาทิตย์ลอยขึ้นสู่พื้นน้ำ ท่ามกลางยอยักษ์เหนือน่านน้ำคลองปากประกันเป็นจำนวนมากอยู่เป็นประจำ  แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่มีความมหัศจรรย์ มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น มีชื่อเสียง และมีความสวยงาม มากไปด้วยเรื่องราว ครบเครื่องในเรื่องขององค์ประกอบภาพ  ทั้งภาพวิถีชีวิตผู้คน สีสันของพระอาทิตย์ในโทนอุ่นสวย โดยเฉพาะในวันเวลาที่ท้องฟ้าและอากาศเป็นใจ  คลองปากประจะสามารถเรียกรอยยิ้ม และความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเชื่อมโยงกับทะเลน้อย สามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ (รับผิดชอบพื้นที่สงขลา พัทลุง) โทร. 0-7424-3747,0-7423-8518,0-7423-1055 …แล้วพบกันใหม่ครับ …สวัสดี..

……………………………………………………………………

เรื่อง/ภาพ : ปิโยรส อุทุมเทวา  ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว @ กองบรรณาธิการ piyoros2514@gmail.com

โทร. 061 9492508

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *