‘ENVIRONHACK’ เวทีเปิดไอเดียเยาวชนสร้างนวัตกรรม สู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ENVIRONHACK กิจกรรมร่วมด้วยช่วยคิดแก้ไขมลภาวะสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาแบบแฮกกาธอนที่พร้อมเจาะทุกมุมมองความคิดและความถนัดเพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าเปิดเวทีระดมสมองเยาวชนใน 6 จังหวัดทั่วไทย นำร่องครั้งแรก Beach Hack หาดชะอำ จ.เพชรบุรี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวในงานเปิดตัวโครงการENVIRONHACK ว่า โครงการENVIRONHACK เป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบในการมาช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งแนวความคิดที่หลากหลายเหล่านี้จะถูกนำมาต่อยอดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แนวคิดนี้ออกมาสู่รูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้การทำแฮกกาธอนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ทำร่วมกับหลายส่วนในท้องถิ่น และทำในหลายท้องถิ่นของ 6 จังหวัดทั่วไทย ที่ครอบคลุมปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาการบริหารจัดการน้ำเสีย ,มลภาวะทางอากาศ และเรื่องการจัดการขยะ เป็นต้น

“กระทรวงจะนำไอเดียของน้องๆ เยาวชนไปต่อยอด เพื่อพัฒนาออกมาให้เห็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้สังคมไทยต้องการได้ยินพลังความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน จึงอยากเชิญชวนน้องๆที่มีความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกันในโครงการEVIRONHACK” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

นางสาวบี ภูมิรัตน์ Co-Founder ENVIRONHACK ให้ข้อมูลว่า “ENVIRONHACK” มาจากคำว่า Environment = สิ่งแวดล้อม และ Hack = การแก้ปัญหาอย่างฉลาดว่องไว รวมกันเป็นคำหมายถึงกิจกรรมที่ร่วมกันคิดหาวิธีแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมที่สนใจในประเด็นปัญหาเดียวกัน ได้ร่วมกันค้นหาทางออกที่เป็นไปได้ ทดลองทำต้นแบบชิ้นงาน นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหา ส่วน HACKATHON แฮกกาธอน มาจากคำว่า แฮก (HACK) กับ มาราธอน (MARATHON) ซึ่งแฮกกาธอนคือการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างมีกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จคล้ายกับการทำสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานไม่หยุดพัก

การจัดทำโครงการ ENVIRONHACK ครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการนำกระบวนการแฮกกาธอนมาใช้ เพื่อให้เกิดการสร้างสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มุ่งหวังให้เป็นโครงการที่ส่งเสริมการใช้กระบวนการสร้างนักปฏิบัติสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รวมถึงทำให้เกิดการมองเห็นปัญหาร่วมกันในพื้นที่ เกิดการเชื่อมต่อเครือข่าย มีการรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดตรงกันเพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ ต่อไป อีกทั้งต้องการส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้ได้พัฒนาศักยภาพ และสร้างการรับรู้และความร่วมมือให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

โครงการ ENVIRONHACK เปิดโอกาสสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ระหว่างอายุ 17 – 30ปี ที่มีพื้นฐานประสบการณ์และความรู้จากหลากหลายสาขาในแต่ละภูมิภาคจํานวน 300 คน รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ร้านค้าในชุมชนต่างๆ ให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และส่งเสริมการรับฟังความคิดเห็นด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเยาวชน

นางสาวกัญญจันทร์ สะสม Co-Founder ENVIRONHACK ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ทำกิจกรรมการแข่งขันระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมภายใต้โจทย์ที่ได้รับภายในระยะเวลาจำกัด (12 – 48 ชั่วโมง) ซึ่งทีมผู้เข้าร่วมที่คิดวิธีแก้ปัญหาได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ได้รับรางวัลในการแข่งขัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจได้รับการนำไปต่อยอดหรือทดลองให้เกิดขึ้นจริง

โครงการ ENVIRONHACK จะจัดขึ้นใน 6จังหวัดทั่วไทย โดยเริ่มนำร่องแล้วเมื่อวันที่ 5-8สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาในชื่อ Beach Hack ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนครั้งที่ 2จะจัดขึ้นวันที่ 23-25 กันยายน 2565 ในชื่อ Water Hack ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำและมลพิษชายฝั่ง พื้นที่ จังหวัดระยอง สำหรับครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นวันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 ในชื่อ Bangkok Climathon เป็นการแก้ปัญหา Climate Change ที่กรุงเทพมหานครพร้อมกับ 170 เมืองทั่วโลก 

ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 3565 ภายใต้ชื่อ Koh Hack ซึ่งเป็นการแก้ปัญหามลพิษบนเกาะของ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นในวันที่ 9-11 ธันวาคม 2565 ในชื่อ River Hack แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแม่นํ้าโขง ในพื้นที่ จังหวัดหนองคาย และครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในวันที่ 13-15 มกราคม 2565 ในชื่อAir Hack แก้ปัญหามลพิษอากาศและไฟป่าในพื้นที่ของจังหวัดลำปาง

ENVIRONHACK เป็นโครงการที่มีกระบวนการการทำงานที่นอกจากคำนึงถึงการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ชาญฉลาดและยั่งยืน ยังคำนึงถึงการเสริมพลังและสนับสนุนทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงเคารพคนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาทางสิ่งแวดล้อมด้วย

“เพราะมนุษย์กับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน เรารักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้บรรยากาศในโลกของเรายังดำรงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา เราให้ความสำคัญกับการเติบโต การได้รับโอกาส และการมีส่วนร่วมของคนทุกคน เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญคือเราต้องร่วมมือกัน สิ่งแวดล้อมต้องการการทุ่มเทกำลังจากพวกเราทุกคน” นางสาวกัญญจันทร์ สะสม กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *