ไบโอเทค สวทช. ได้รับทุนสนับสนุนกว่า 12 ล้านบาทเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านมันสำปะหลังในเขตประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง มีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนกระบวนการ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงได้ดำเนินโครงการ “Capacity Building on Circular Economy, Resource and Energy Efficiency for Productivity

and Sustainability of Cassava Chain to High Value Products: Cassava Root, Native Starch, and Biogas in Mekong Countries” หรือ โครงการ CCC เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง บุคลากร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุล่าสุดได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund-MKCF) กว่า 12 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมให้บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

ดร.วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยว่า มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 68% ทั้งนี้ หากรวมผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 90% ด้วยเหตุนี้ ไบโอเทค สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของมันสำปะหลังต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการ CCC

เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยหลักสูตรอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญเริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังและการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิต และทำให้มันสำปะหลังมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูปหรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ ต่อด้วย “กลางน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิต จนถึง “ปลายน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง

โครงการ CCC เป็นความร่วมมือของ ทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ทีมวิจัยเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ไบโอเทค ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร มจธ. และ มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund-MKCF) เป็นจำนวนกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง” ดร.วรินธร สงคศิริ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *