เปิดภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น

 ​อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้มีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อก สู่โลกดิจิทัล ของงานวิจัยประเทศ จนนำมาสู่การก่อตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว.มองภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในช่วง 65 ปี ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และ สังคมตามที่คาดหวัง จึงได้มีการปฏิรูปงานวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมมาให้เป็นเนื้อเดียวกัน

  ​5 สิงหาคม 2565 พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ มองภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศจากอดีตสู่ปัจจุบัน เนื่องในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ขอขอบคุณที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติได้พยายามนำเสนอให้เห็นว่างานวิจัยจะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และยังมุ่งสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนพลเมืองในประเทศอีกด้วย

  ​การเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีความท้าทาย ทั้งจากภัยทางธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โรคระบาด อุบัติเหตุ ภัยสงคราม ล้วนมีผลกระทบต่อผู้คน ขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตในทุกขั้นตอน จนทำให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

  ​การเริ่มก่อเกิดของสำนักงานวิจัยแห่งชาติซึ่งเริ่มมาตั้งแต่2499 ถือว่ามีความสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างและจากการที่เคยไปร่วมงานครบรอบ 60 ปีของ วช. เป็นความยิ่งใหญ่ในการสร้างรากฐานของการวิจัย วช. ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง จนต่อมาในปี 2532 มีการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมขึ้น จนถึงปี 2562 รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงใหม่เป็นการรวมงานของ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กับ สำนักงานการอุดมศึกษา เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นหัวใจยังคงอยู่ ต้องขอขอบคุณวช. ที่ได้วางรากฐานกำหนดเป็นแผน 5 ปี 10 ปี ไว้ตลอดมา แม้ว่า ในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่สามารถผลักดันงานวิจัยให้มีผลกระทบต่อการนำไปใช้ประโยชน์กับสังคม และประเทศชาติตามที่เราต้องการ ดังนั้น เราจึงมีการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ และ นวัตกรรมมาเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเสริมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการปรับปรุงกฎหมายและปรับปรุงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้มีการดำเนินการเห็นแสงสว่างที่ชัดเจนขึ้น มีการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อนักวิจัย มีการจัดสรรงบประมาณที่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดกำลังใจในการที่ภาคส่วนต่างๆจะเข้ามาร่วม ถือเป็นจุดที่รีสตาร์ทใหม่ที่ทำให้กระบวนการวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ส่งผลต่อโอกาส ส่งผลต่อสังคม และ เศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่าในช่วงเวลาจากนี้ต่อไปจะเป็นช่วงขาขึ้นของงานวิจัยและนวัตกรรม

     พลอากาศเอกประจิน กล่าวถึง การใช้งานวิจัยเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วแบบก้าวกระโดด ว่า จะทำได้ก็ต้องทำให้งานวิจัยมีการต่อยอดในเชิงวิชาการ ในเชิงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยหลายฝ่าย เพราะจะต้องมีเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะการลงทุนที่จะร่วมกันระหว่างคนไทยและต่างชาติ เขาจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์พอสมควร และในเรื่องการตลาด เราจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ขณะนี้โอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างดี เพียงแต่ตรงนี้ขอให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง

    งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีประลองยุทธ์ แสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปีนี้เป็นครั้งที่ 17  ภายใต้ หัวข้อ “ วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *