วช. เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของไทย ย้ำชัดใช้นวัตกรรมหนุนการเติบโตประเทศ


วันที่ 30 เมษายน 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าว “ผลการสำรวจข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2567” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมให้ข้อมูลในประเด็น “นโยบายการขับเคลื่อน ววน. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 168,106 ล้านบาท มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 16.5 เป็นค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน 112,126 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.4 ในขณะที่ภาคอื่น ๆ (ภาครัฐบาล อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) มีค่าใช้จ่าย 55,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 หรือคิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 67 : 33
ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 54,487 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 30) และภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง/ค้าปลีกมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 20,665 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 37) แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีมูลค่า 36,973 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ) ประกอบกับโครงสร้างค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมบริการและภาคอุตสาหกรรมค้าส่งค้าปลีก จึงทำให้การใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาภาคเอกชนโดยรวมลดลง
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนสูงสุด ประมาณร้อยละ 94 (105,617.95 ล้านบาท) ถัดมาเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ร้อยละ 5 (5,624.88 ล้านบาท) และอุตสาหกรรมขนาดย่อม ร้อยละ 1 (882.72 ล้านบาท) ตามลำดับ และพบว่าการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาในภาครวมของอุตสาหกรรมลดลงเช่นกัน ผลจากการสำรวจยังพบว่า สาเหตุที่ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา มีดังนี้
(1) บริษัทมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดต้นทุน
(2) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
(3) ในปีที่ผ่านมาบางบริษัทมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในเรื่องครุภัณฑ์ และห้องปฏิบัติการทดลอง จึงทำให้มีการลงทุนลดลง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า แนวโน้มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และการใช้สมุนไพรไทยเพื่อป้องกันโรค อาทิ โควิด-19 รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่นำอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเสริมสร้างรายได้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการประยุกต์ภูมิศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจ (Social/Economic Geography) สำหรับบุคลากรวิจัยและพัฒนา (R&D) พบว่า แม้จะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่มีแนวโน้มผันผวนตามธรรมชาติ เช่น การเกษียณและนักวิจัยใหม่เข้ามาทดแทน ในปีสำรวจล่าสุด มีบุคลากร R&D รายหัว 220,629 คน ลดลง (9%) และบุคลากร R&D (แบบ FTE) 150,081 คน-ปี ลดลง 9% โดยจำแนกเป็นนักวิจัย 114,169 คน-ปี (76%) ผู้ช่วยนักวิจัย 22,971 คน-ปี (15%) และผู้สนับสนุนงานวิจัย 12,941 คน-ปี (9%) คิดเป็นสัดส่วน 23 คน-ปีต่อประชากร 10,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในภาคเอกชน 68% และภาคอื่น ๆ 32%
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในปัจจุบันจะลดลง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบัน มีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น หากเศรษฐกิจของประเทศ สามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุน ในด้านการวิจัยและพัฒนา ประกอบกับนโยบายของ กระทรวง อว. ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน



ถัดมาเป็นการเสวนาในประเด็น “นโยบายการขับเคลื่อน ววน. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2567 พบว่าหากเศรษฐกิจประเทศกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายรัฐที่ผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้จริง จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง และช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศในระยะยาว