ชมความงดงามของถนนสายวัฒนธรรม ความสวยงามที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย “ราชดำเนิน”

สวัสดีครับ…พบกันอีกครั้งในคอลัมน์ ท่องเที่ยว ด้วยความที่ว่าพื้นเพเดิมของผมนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่บางซื่อ ปู่ย่าตายายรับราชการ เวลามีงานพระราชพิธี หรือแม้กระทั่งงานมหรสพต่างๆ ซึ่งทางราชการก็มักที่จะจัดขึ้นที่ถนนราชดำเนินอยู่ บรรดาพี่ป้าน้าอ้าก็ชอบที่จะพาลูกๆ หลาน ไปเที่ยวยังถนนแห่งนี้ จึงทำให้ตัวผมเองนั้นมีความผูกพันธ์กับถนนราชดำเนินมาตั้งวัยเด็ก แถมในช่วงวัยรุ่นยังได้ร่ำเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์อีก เวลาเลิกเรียนก็มักจะชักชวนเพื่อนร่วมห้องไปเที่ยวยังราชดำเนิน ไปหาของอร่อยกินไอตงไอติม ลูกชิ้นปิ้ง น้ำแข็งใส ฯลฯ ของอร่อยกันทั้งนั้นเลย     

เดิมทีนั้น ราชดำเนินนับเป็นถนนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมือง และเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด และให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งวังและสถานที่ราชการใหญ่ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็กๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า โดยในชั้นแรกนั้นมีพระราชดำริว่า “เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถม จะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร “ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน”

ทว่าสาเหตุของการตัดถนนนั้น ก็เนื่องมาจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกร เป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการใช้ค่าที่ดินในการเวนคืนเพื่อตัดถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ใน พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่า “ถนนราชดำเนินนอก”  ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย มาบรรจบกับย่านริมสนามหลวงด้านตะวันออก ไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

ตัวผู้เขียนเองตั้งแต่วัยหนุ่มน้อยยันหนุ่มใหญ่ จะกี่ปีกี่ครั้งที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน ถนนราชดำเนินแห่งนี้ ถนนสายนี้ก็มิเคยทำให้ผิดหวัง ยังคงงดงามสะพรั่งดุจดั่งสาวแรกแย้ม เป็นถนนที่มีความงดงามและเป็นศรีสง่าของแผ่นดินอยู่เสมอ  ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย โดยจะถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองในช่วงวิกฤตการณ์ของประเทศหลายต่อหลายครั้งดังที่เราทราบกัน

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญราชดำเนินนั้น เช่น วัดพระแก้ว, สนามหลวง, สะพานผ่านพิภพลีลา, โรงแรมรัตนโกสินทร์, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, ถนนข้าวสาร, หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา, โรงเรียนสตรีวิทยา, ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, สภาทนายความ (ประเทศไทย), ศาลาเฉลิมไทย, ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และโลหะปราสาท, สะพานผ่านฟ้าลีลาศ, นิทรรศน์รัตนโกสินทร์, ป้อมมหากาฬ, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สนามมวยราชดำเนิน, สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย สะพานมัฆวานรังสรรค์, กองบัญชาการกองทัพบก, ทำเนียบรัฐบาล, กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถชะแว๊บ มาถ่ายภาพเซลฟี่เป็นที่ระลึกได้อย่างงดงาม

ด้านผู้ที่รักงานศิลป์ ราชดำเนินยังนับเป็นถนนแห่งวัฒนธรรม ถือเป็นศูนย์รวมแหล่งจัดงานศิลป์ชั้นครู ที่หมุนเวียนเปลี่ยนนิทรรศการไปเรื่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับศิลปินในทุกๆ แขนงได้แสดงออกซึ่งศักยภาพและความสามารถในการผลิตผลงานพัฒนาเทคนิคจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ออกมาแสดงได้อย่างเต็มเปี่ยม เช่น หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินอาคารประวัติศาสตร์ ขนาด 4 ชั้น แหล่งรวมงานศิลปะแห่งใหม่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินใช้จัดแสดงผลงาน และกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ และให้บริการทางด้านงานศิลปะร่วมสมัยทุกสาขา 

หากต้องการถ่ายสวยๆ โดยอาศัยความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตัวช่วย ท่านก็แค่ลงเรือข้ามฟาก ไปยังวัดอรุณฯ หาแสงสวยๆ ในยามบ่าย มีเรือแล่นผ่านน่านน้ำเจ้าพระยา หรือจะตั้งกล้องรอแสงสุดท้ายของวันที่วัดอรุณฯ ก็สวยเท่ห์โรแมนติกไม่เบา เพียงเท่านี้ ท่านก็ได้ภาพงามไปอวดผองเพื่อนใน face book กันบ้างแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่อยากข้ามเรือ ท่านก็เดินแบกเป้มาคอยแสงพระอาทิตย์ตกงามๆ ที่วัดพระแก้วก็ยังทำได้เช่นกัน ทว่าก่อนถ่ายภาพก็ขอให้แวะเวียนเข้าไปสักการะองค์พระแก้วมรกต อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของขาวพุทธ เพื่อเป็นสิริมงคลกันนะจ้ะ

ช่วงค่ำนิดๆ หากหิวข้าวขึ้นมา ราชดำเนินมีร้านอาหาร ที่อยู่ในตลาดบางลำพู และในตรอกซอกซอยอย่างมากมายให้คุณได้อิ่มอร่อยในราคามิตรภาพ เช่น สกายไฮ เป็นห้องอาหารที่เปิดมานานตั้งแต่ยุค 70’s ซึ่งชื่อร้านก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงดังในยุคนั้น อย่างเพลง Sky High ของวง Jigsaw ซึ่งเป็นยุคที่วัยรุ่นไทยนิยมฟังเพลงสากลกันมาก ปัจจุบันถูกส่งต่อมาถึง 2 รุ่นแล้ว แต่รสชาติความอร่อยยังคงเหมือนเดิมเป๊ะ เพราะพ่อครัวยังเป็นคนเดิมตั้งแต่เปิดร้าน เปิดขายทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยกลางวันจะเน้นเสิร์ฟเมนูอาหารตามสั่ง และอาหารจานเดียวเป็นหลัก ส่วนช่วงกลางคืนเน้นเสิร์ฟเมนูข้าวต้มใบเตยที่ยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ด้วยการใช้เตาถ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ผัดไทยไฟทะลุ ร้านผัดไทยน้องใหม่ไฟแรงแห่งย่านราชดำเนิน เป็นร้านที่เชฟแอนดี้ หยาง เชฟมิชลินสตาร์ คนไทยคนแรกจากร้าน Rhong Tiam (โรงเตี๊ยม) ร้านอาหารไทยชื่อดังกลางกรุงนิวยอร์ค เป็นคนคิดค้นพัฒนาสูตรผัดไทยที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่การผัดด้วยไฟแรงเกือบทะลุเพดาน ได้กลิ่นหอมของกระทะและเครื่องปรุงเข้มข้น

เมธาวลัย ศรแดง ร้านอาหารไทยสูตรต้นตำรับบรรยากาศสุดคลาสสิค ที่อยู่คู่ถนนราชดำเนินมานานกว่า 60 ปี แต่เดิมชื่อว่า ศรแดง เพียงอย่างเดียว ก่อนเปลี่ยนมาเป็นเมธาวลัย ศรแดง เมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าของในปี พ.ศ. 2536 โดยปรับปรุงร้านให้มีบรรยากาศที่ดูหรูหรา แต่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น เสิร์ฟอาหารในจานเซรามิกคุณภาพดี และใช้ช้อน-ส้อมทองเหลืองที่ดูสวยงาม โดยยังคงรักษารสชาติของอาหารในแบบต้นตำรับที่ไม่มีสาขาที่ไหนเอาไว้เช่นเดิม

ลิขิตไก่ย่าง ร้านไก่ย่างในตำนานหน้าเวทีมวยราชดำเนิน ขายดิบขายดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 รุ่นอันธพาลครองเมือง ในยุคนั้นกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีร้านขายไก่ย่างเสียบไม้แบบในภาคอีสาน ร้านนี้ถือเป็นเจ้าแรกๆ ของกรุงเทพฯ ที่ขายไก่ย่างสไตล์นี้  มีทีเด็ดด้วยเมนูไก่ย่างสไตล์อีสานที่ได้รับการปรับปรุงสูตรจนถูกปากคนกรุงเทพฯ เคล็ดลับอยู่ที่นำไก่มานวดให้เนื้อหมาดน้ำ ก่อนนำมาหมักด้วยเครื่องเทศจนเข้าเนื้อ ทำให้ไก่มีรสชาติเข้มข้น ย่างด้วยเตาถ่านจนแห้งกำลังดี เลือกทานได้กับน้ำจิ้ม 2 รส ทั้งน้ำจิ้มไก่รสเปรี้ยวหวาน หอมกลิ่นกระเทียม พริก และน้ำมะขามเปียก กับน้ำจิ้มแจ่ว รสเผ็ดเค็มกลมกล่อม ร้านนี้ไม่ได้โด่งดังแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังดังไกลถึงต่างแดน ชาวต่างชาติยังต้องตามมาชิมกันถึงที่

หมูปลาร้า หรือที่ใครหลายๆคนเรียกกันว่าร้านหมูต่ำ เป็นร้านหมูย่างสไตล์อีสานที่เปิดมานานกว่า 17 ปี จุดเด่นอยู่ที่การนำหมูส่วนสันคอ และ สะโพก ซึ่งนิ่มกว่าส่วนอื่น มาหมักด้วยซอสนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนนำมาเสียบไม้ แล้วย่างบนเตาถ่านร้อนๆ จนได้หมูย่างเนื้อนุ่ม รสเข้มข้น ทานคู่กับน้ำพริกปลาร้าสูตรเด็ด ที่ทำมาจากปลาร้าตัวโตเนื้อแน่น ปรุงรสจัดจ้านแบบอีสานแท้ๆ และผักสดตามฤดูกาล ซึ่งถ้าจะให้ได้บรรยากาศก็ต้องปูเสื่อนั่งกินกันริมถนนแบบบ้านๆกันเลย รับรองว่าล้วงจิ้มกันเพลิน จนต้องไปต่อคิวขอซื้อเพิ่มแน่นอน ทว่าถ้าจะดริ๊งเบาๆ ก็เดินเข้าแยกคอกวัว หาร้านนั่งชิลดื่มโต้ลมฝนในตรอกข้าวสาร แน่ะ !! อย่าเมาแล้วขับกันนะจ้ะ เอาพอหอมปากหอมคอ…อิอิ…สวัสดีครับ

……………………………………….

By : ปิโยรส อุทุมเทวา

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว : piyoros2514@gmail.com

โทร.061 949 2508

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *