
….หลายคนๆ อาจจะกังขาว่า ที่เมืองสุพรรณนั้น ปลูกสตอเบอรี่ได้หรือ ! ด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทว่า “ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา” คนรุ่นใหม่ที่มีใจมุ่งมั่น เธอได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า “หนูทำได้ !” ทั้งๆ ที่ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย ที่จะให้เธอทำธุรกิจที่อาจจะมองไม่เห็นถึงช่องทางแห่งความสำเร็จ เธอเลยเลือกปลูกในสิ่งที่คนอื่นมองว่าปลูกไม่ได้ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี นั่นก็คือ “สตอเบอรี่” กระทั่งคุณแม่ก็ไม่ยอมพูดจาด้วยเป็นปี แต่เมื่อเธอเห็นเช่นนี้ จึงเกิดแรงผลักดันใจ ที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าเธอทำได้มิได้มะโนขึ้นภายในใจแต่ประการใด เธอจึงเลือกทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เนรมิตไร่ สตอเบอรี่สวย ให้พวกเราได้ยลโฉมความงดงามกัน…

ไร่พิมพ์วรัตน์ สตอเบอรี่แห่งนี้ เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น ของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง “พิมพ์วรัตน์” ที่มีความรักและคลุกคลีกับอาชีพเกษตรกรมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ และชอบที่จะทำเกษตร ในวัยเด็กเธอถูกพ่อและแม่ปลูกฝังอยู่เสมอว่า ต้องตั้งใจเรียนให้สูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน เงินเดือนสูงๆ และหลังจากที่เธอเรียนจบ ปวส. เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านเพื่อเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ! ในขณะนั้นทั้งพ่อและแม่ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ ด้วยความเกรงอกเกรงบุพการี เธอจึงเลือกที่จะเรียนไปด้วย และทำการเกษตรไปด้วย เพื่อให้พ่อและแม่สบายใจ เธอเรียนต่อปริญญาตรีสาขารัฐประสาสนศาสตร์ ภาคสมทบพร้อมๆกับ การปลูกมะนาวและหน่อไม้ฝรั่ง

ระหว่างนั้นเธอได้มีโอกาสเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้ได้ความรู้กลับมาพัฒนาการเกษตรที่ทำอยู่ปัจจุบัน เธอได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรจากผู้รู้หลายๆ ท่าน รวมทั้งยังได้ศึกษาถึง “ศาสตร์ของพระราชา” อย่างลึกซึ้ง จนทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ คือความยั่งยืนของชีวิตอย่างแท้จริง ไม่นานนักเธอจึงตัดสินใจลาออกจากการเรียนสาขารัฐประสาสนศาสตร์ เพราะได้มองเห็นว่า การศึกษาสาขานี้ไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เธอต้องการทำ และมองหาความรู้เพิ่มเติมที่จะช่วยต่อยอดส่งเสริมการทำการเกษตร นั่นก็คือเรียนด้านพืชศาสตร์ ทว่าความพยายามของเธอกลับไม่เป็นผล เมื่อสถานศึกษาไม่รับเข้าเรียนต่อ เนื่องจากพื้นฐานที่มีไม่ตรงกันนั่นเอง

ทว่าถึงกระนั้น เธอก็ยังไม่ละความพยายาม เลยตัดสินไปสมัครเรียนที่สถาบันการศึกษาของเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อเรียนสาขาการบัญชี ณ จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้เธอมองเห็นความสำเร็จและอนาคต เธอตั้งปณิธานไว้ว่า จะต้องเป็นเจ้าของกิจการทางด้านการเกษตรให้จงได้ เธอวางแผนทำทุกอย่างแบบครบวงจรในฟาร์มของตนเอง มีผลผลิตเป็นของตัวเองจำนวนมากมาย มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตของตนเอง ทำเองขายเองได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ช่วงระหว่างเรียนเธอจะใช้เวลาว่างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กลับบ้านมาเพื่อมาดูแลสวนมะนาว จนจบการศึกษา และแต่งงานออกเรือน เธอยังได้ชักขวนให้แฟนมาช่วยทำการเกษตร เพื่อจะได้ใช้ชีวิตคู่อยู่กับการเกษตรด้วยกันอย่างมีความสุข ณ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมทีนั้นแฟนของเธอเป็นวิศวะกรไม่ค่อยจะมีเวลาได้อยู่ด้วยกันเท่าที่ควร หลังจากแฟนลาออกจากงาน ครอบครัวก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพื่อนบ้านข้างเคียงยังมองว่า เรียนจบสูงแต่ไม่มีอนาคต ! ต้องหันมาเป็นเกษตรกรใน ตอนนั้นเธอเสียใจมาก และรู้สึกว่าอยากจะลบคำปรามาสของทุกๆ คน และทำให้ครอบครัวมองเห็น ว่า “การเป็นเกษตรกรนั้น ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในชีวิต” ด้วยการเลือกปลูกพืชที่หลายๆ คนมองว่าบ้า ! ซึ่งไม่มีใครคิดจะปลูกในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี นั่นก็คือ “สตอเบอรี่”

สาวผู้มีความมุ่งมั่นผู้นี้ ยังเดินหน้าศึกษาเกี่ยวกับสตอเบอรี่อย่างจริงจัง เธอตัดสินใจตัดต้นมะนาวทิ้งทั้งหมด เพื่อทำแปลงสตอเบอรี่ และยังได้นำแหวนแต่งงานไปจำนำ มาใช้เป็นเงินลงทุน และเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 32,000 บาทเท่านั้น ! ทว่าโชคร้ายเริ่มแรกเลยเธอถูกหลอกขายต้นพันธุ์ แต่ผลผลิตที่ได้ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง ก็ยังไม่ทำให้ถึงกับขาดทุน สิ่งนี้ก็คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เธอรู้สึกว่า ต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ และเริ่มศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้นทางอินเตอร์เน็ต จึงพบว่าสถานีวิจัยดอยปุย เป็นแหล่งผลิตต้นพันธุ์สตอเบอรี่ที่มีคุณภาพ จึงตัดสินใจไปศึกษาเรียนรู้ที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่

“เกษตรกรของพระราชา” คือแรงบันดาลใจ ทำให้เธอมุ่งมั่น และตั้งใจ จนสามารถสำรวจตัวเอง สำรวจพื้นที่ที่ทำอยู่ว่าโครงสร้างดินเป็นแบบใด สภาพอากาศในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร จะทำให้รู้ว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว สภาพอากาศในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณในบางฤดูกาลก็ยังมีความคล้ายคลึงกับภาคเหนือ และที่สำคัญพื้นที่นั้นมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกด้วย

ปี 2559 เธอได้นำพันธุ์สตอเบอรี่พันธุ์ใหม่ ที่ร่วมทำวิจัยกับสถานีวิจัยดอยปุยมาลองปลูก และทำทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เก็กฮวย ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นต้น ในปี 2560 เธอได้รับความไว้วางใจจากสถานีวิจัยดอยปุยให้พื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่ทดลองปลูกสตอเบอรี่ ซึ่งถือเป็นสตอเบอรี่พันธุ์สุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามให้ นั่นคือพันธุ์ “พันธุ์พระราชทาน 88” ซึ่งผลออกมาเป็นที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง



พื้นที่บ้านเกิดของเธอสามารถปลูกสตอเบอรี่ได้ผลผลิตดีกว่าที่คิด รวมทั้งเธอยังใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์สตอเบอรี่ในไร่ จวบจนปัจจุบัน ไร่แห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาย ทั้งนี้เธอยังอยากที่จะสานต่อ และส่งมอบความรู้ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจ เพื่อเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังเป็นการแทนคุณแผ่นดิน ให้สมกับคำที่ว่า “เกษตรกรของพระราชา”
ข้อมูลการติดต่อ
ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา
206 หมู่ 6 ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180 โทร. 088 453 1164
………………………………………………………..
เรื่อง/ภาพ : ปิโยรส อุทุมเทวา